‘ส่งออกไทย’ต่ำสุดในภูมิภาค แนะปรับโครงสร้างภาคการผลิต

‘ส่งออกไทย’ต่ำสุดในภูมิภาค แนะปรับโครงสร้างภาคการผลิต

ไทยออกไทยติดลบสูงสุดในภูมิภาค ด้านเวียดนามบวก 13% สรท.ชี้เวียดนามส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไปสหรัฐพุ่ง “หอการค้า” ห่วงสินค้าไทยถูกแรงบีบทั้งสินค้าไฮเทค-ใช้แรงงานสูง ด้านผลผลิตอุตสาหกรรมไทยติดลบ 18 เดือน ผลกระทบส่งออกรถยนต์วูบ ธปท.ชี้ส่งออกติดลบ 10.2% เป็นไปตามที่คาด

การส่งออกสินค้าของไทยในเดือนไตรมาสแรก ถูกพูดถึงอย่างมากเมื่อกระทรวงพาณิชย์รายงานว่า การส่งออกมีมูลค่า 70,995 ล้านดอลลาร์  เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว ติดลบ 0.2% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 75,470 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3.8% และขาดดุลการค้า 4,475 ล้านดอลลาร์

ในขณะที่หลายประเทศในภูมิภาคทยอยประกาศตัวเลขการส่งออก ปรากฎว่า การส่งออกของไทยในเดือน มี.ค.2567 ติดลบสูงที่สุดในภูมิภาค โดยการส่งออกของจีน ติดลบ 7.5% , มาเลเซีย ติดลบ 6.1% , อินโดนีเซีย ติดลบ 4.2% และสิงคโปร์ ติดลบ 3.4%ขณะที่การส่งออกของไต้หวัน บวก 18.9% และเวียดนาม บวก 13.0%

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบอัตราการขยายตัวของการส่งออกในเดือน มี.ค.2567 หลายประเทศในภูมิภาคจะเห็นว่ามีการชะลอตัวลง และถึงแม้ว่าการส่งออกของไทยที่มีมูลค่า 70,995 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 10.2% แต่ไม่ถึงกับแย่มากเพราะหลายประเทศติดลบ 

ทั้งนี้ ยกเว้นการส่งออกของเวียดนามที่มีอัตราการขยายตัวสูงมาก ซึ่งเป็นเพราะเป็นการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปยังประเทศสหรัฐมีการเติบโตที่สูง

นอกจากนี้ การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2567 ของไทยมีมูลค่า 70,995 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว ติดลบ 0.2% เมื่อเทียบกับการส่งออกของภูมิภาคพบว่า มาเลเซีย ติดลบ 5.0% และอินโดนีเซีย ติดลบ 7.2% ในขณะที่การส่งออกของเวียดนาม ขยายตัว 16.8% และสิงคโปร์ ขยายตัว 3.9%

นายชัยชาญ กล่าวว่า การส่งออกไตรมาส 1 ของไทยที่ติดลบมีสาเหตุสำคัญจากผลผลิตสินค้าเกษตรลดลงทั้งมันสำปะหลัง น้ำตาล รวมถึงการส่งออกทุเรียนล่าช้าจากเดิมส่งออกไตรมาส 1 เลื่อนไปเดือน เม.ย.เพราะผลผลิตออกช้าจากปัญหาอากาศร้อน โดยตัวเลขการส่งออกผลไม้ไทยจะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 แทนที่จะเป็นไตรมาส 1

‘ส่งออกไทย’ต่ำสุดในภูมิภาค แนะปรับโครงสร้างภาคการผลิต

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าพวกผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ที่ส่งออกไปจีนลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว โดยดูจากตัวเลขภาคการผลิตหรือดัชนี PMI ที่อยู่ในระดับ 50 ดังนั้นจึงทำให้การส่งออกสินค้าส่วนนี้ลดลง

“ไม่ต้องกังวลต่อตัวเลขการส่งออกในไตรมาสแรกที่ติดลบ เพราะการส่งออกของไทยยังคงแข็งแกร่ง เพราะเรามีซัพพลายเชนในหลายอุตสาหกรรมทั้งรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ที้สำคัฐการย้ายฐานการผลิตของรถอีวี และยางล้อรถยนต์ ซึ่งในส่วนนี้จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศไทยในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก”นายชัยชาญ กล่าว

นายชัยชาญ กล่าวว่า ยังมีการย้ายการผลิตของกลุ่ม PCB ทำให้ตัวเลขการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิสก์ของไทยยังมีแนวโน้มที่ดี ดังนั้นการส่งออกของไทยไม่ได้แย่ เพียงแต่ในช่วงแรกผลไม้และเคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญส่งออกลดลง ทั้งนี้ไทยมีฐานที่แข็งแกร่งด้านการส่งออก โดยไตรมาส 2 มั่นใจว่าส่งออกจะมีมูลค่า 71,000 ล้านดอลลาร์ เฉลี่ยส่งออกเดือนละ 23,700 ล้านดอลลาร์

ส่วนปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิศาสตร์ยิ่งไม่ต้องห่วง เพราะเป็นปัญหาของประเทศผู้ส่งออกทั่วโลก หากเกิดขึ้นก็ย่อมกระทบต่อไทยและประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนเช่นกัน

แนะปรับโครงสร้างภาคการผลิต

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือน มี.ค.2566 มีมูลค่าถึง 28,004 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นฐานที่สูงมาก ในขณะที่การส่งออกเดือน มี.ค.2567 มีมูลค่า 24,960 ถือเป็นระดับที่สูงแต่การส่งออกช่วงเดียวกันของปีที่แล้วสูงมากจึงทำให้การส่งออกเดือน มี.ค.ปีนี้ ติดลบมาก

‘ส่งออกไทย’ต่ำสุดในภูมิภาค แนะปรับโครงสร้างภาคการผลิต

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยมีหลายรายการที่มีสัญญาณชะลอตัว โดยเฉพาะการส่งออกสินค้ายานยนต์ที่ในเดือน มี.ค.2567 ติดลบถึง 15.2% ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยเสี่ยงจากความต้องการของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีแย่งความต้องการซื้อของรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน

นอกจากนี้ การผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกของไทยได้รับแรงกดดันจาก 2 ส่วน คือ 1.สินค้ากลุ่มไฮเทค ซึ่งภาคการผลิตของไทยยังไม่สามารถยกระดับเทคโนโลยีขึ้นไปแข่งขันได้ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าที่เกี่ยวของกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) 2.สินค้าที่ใช้แรงงานมาก ซึ่งผู้ผลิตไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้

ดังนั้น สถานการณ์ของภาคการผลิตของไทยจึงถูกบีบด้วยการผลิตของกลุ่มไฮเทคและกลุ่มที่ใช้แรงงานสูง ซึ่งจำเป็นที่ภาคการผลิตของไทยจะต้องปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต เช่น สินค้ากลุ่มฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟที่กำลังเปลี่ยนเทคโนโลยีจากฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ 5.25 เป็นโซลิดสเตทไดรฟ์ โดยผู้ผลิตในไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านการผลิต

ผลผลิตอุตสาหกรรมติดลบ 18 เดือน

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าววา ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มี.ค.2567 อยู่ที่ระดับ 104.06 หดตัว5.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 62.39 % ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสแรกปี 2567 อยู่ที่ 100.85 หดตัว 3.65% และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 60.45%

สาเหตุหลักมาจากการผลิตยานยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 8 จากการหดตัวของการบริโภคภายในประเทศจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับการส่งออกลดลงเกิดจากความต้องการสินค้าในประเทศคู่ค้าในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย) ปรับตัวลดลง

รวมถึงการผลิตยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 22.63% จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก รถยนต์นั่งขนาดใหญ่ และเครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก ตามการหดตัวของตลาดในประเทศที่ลดลง 33.15% จากกำลังซื้อที่อ่อนแอและหนี้สินครัวเรือนอยู่ในระดับสูง 

วมทั้งสถาบันการเงินยังคงความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อต่อไป ประกอบกับการส่งออกลดลง 9.33% จากรถบรรทุกปิคอัพ และรถยนต์ขนาดเล็ก หลังความต้องการสินค้าในประเทศคู่ค้า อย่างฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ปรับตัวลดลง

ธปท.ชี้ส่งออกติดลบตามที่คาดไว้

นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การส่งออกเดือน มี.ค.2567 ที่ติดลบ 10.2% ถือว่าเป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองไว้ที่คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวของภาคส่งออกฟื้นตัวได้ช้าๆหลังจากนี้ 

ในขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ออกมาในช่วงไตรมาสแรกปีนี้โดยรวมถือว่าปรับตัวดีขึ้นหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากแรงขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยว ส่งผลให้การจ้างงานในภาคบริการยังขยายตัวได้ ส่วนการลงทุนเอกชนปรับตัวดีขึ้น โดยภาพรวม ถือว่าเป็นตัวเลขสอดคล้องกับที่ธปท. ประเมินไว้

โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกจะเติบโตได้ราว 1% ทั้งหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่วนมูลค่าส่งออกที่ติดลบ 10.2% จากเดือนก่อนหน้า มาจากผลของฐานสูงปีก่อน ดังนั้นภาพเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสแรก ถือว่าไม่ได้ออกมาแย่มากนัก

ส่วนการปรับตัวเลขเศรษฐกิจไทย หรือ จีดีพีของกระทรวงการคลังลดลง ส่วนหนึ่งมองว่ายังสอดคล้องกับที่ธปท.ประเมินไว้ โดยทั้งปีธปท.ยังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะยังเติบโตอยู่ที่ระดับประมาณการณ์เดิมที่ 2.6% ซึ่งยังไม่มีตัวเลข หรือปัจจัยใด ที่เซอร์ไพรส์ ที่เป็นทั้งด้านบวกและด้านลบ

“หากเราดูข้อมูลเศรษฐกิจไทย ที่ออกมาไตรมาสแรกที่ออกมา โดยคาดขยายตัวราว 1% หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งทั้งปีที่ 2.6% ก็ยังอยู่ในวิสัยที่เราประเมินไว้ได้ แต่อย่างไรก็ตามต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจจริงที่จะออกมาของสภาพัฒน์ สำหรับไตรมาสแรกอีกครั้ง ว่าภาพรวมจะเป็นอย่างไร แต่โดยรวมถือว่าใกล้เคียงกับที่เราคาดไว้”

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย ในระยะข้างหน้า ประเมินว่า จะได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายภฝฦที่จะเริ่มใช้จ่ายได้เต็มที่มากขึ้น ที่จะเป็นแรงส่งสำคัญ ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ขยายตัวได้ต่อเนื่อง

เผยเศรษฐกิจเดือน มี.ค.ดิ่ง

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย เดือนมี.ค. ถือว่าชะลอตัวลง หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากอุปสงค์และท่องเที่ยวที่เร่งไปมาก ในเดือนก่อนหน้า และปัจจัยพิเศษ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ เช่น มาตรการ ลดหย่อนภาษี Easy E-receipt

โดยภาพเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนมี.ค. จำนวนนักท่องเที่ยว ลดลงเหลือ 3ล้านคน จากเดือนก่อนหน้าที่ 3.4 ล้านคน จากการเร่งเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีน และมุสลิม ที่เป็นช่วงถือสินอด ทำให้เร่งการท่องเที่ยวไปแล้ว ในเดือนก่อนหน้านี้ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ส่งผลให้รายรับจากการท่องเที่ยวในรูปดอลลาร์ลดลงด้วย ราว 6.9%

อย่างไรก็ตาม หากดูจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาสแรก โดยรวมอยู่ที่ 9.4 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้นมาก หากเทียบกับไตรมาส 4 ที่จำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ระดับ 8.4 ล้านคน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นราว 17.3%จากไตรามาสก่อน จากการเร่งตัวของนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก ซึ่งมาจากช่วงเทศกาลตรุษจีน และมาตรการฟีวีซ่า

เงินบาทอ่อนค่า 7.8% เป็นปัจจัยชั่วคราว

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนของไทย พบว่าอ่อนค่ามากขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินบาทอ่อนค่าลง 7.8% โดยอ่อนค่ามากขึ้น หากเทียบกับบางประเทศในภูมิภาค ส่วนใหญ่มาจากการที่นักลงทุนมองว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงช้ากว่าคาด ทำให้เงินลงทุนส่วนใหญ่ ไหลกลับเข้าไปสู่ดอลลาร์ หนุนให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นราว 4.4% หากเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ

โดยการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนของไทย ถือว่าเคลื่อนไหวตามค่าเงินในภูมิภาค และอ่อนค่ารองจากเงินเยน ญี่ปุ่น ที่อ่อนค่าเกือบ 10% ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาท ส่วนหนึ่งได้รับแรงกดดันจากเชิงฤดูกาล ที่เป็นช่วงการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียน และโลซีซั่นของภาคการท่องเที่ยว ที่กดดันเงินบาทให้อ่อนค่าต่อเนื่อง ซึ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยชั่วคราว โดยมองว่าหลังจากนี้ หากนักท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น ค่าเงินบาทจะมีแนวโน้มดีขึ้นได้

“การอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทในเดือน เม.ย.และไตรมาสแรก ถือว่าอ่อนค่า หากกว่าหลายสกุลเงินในภูมิภาค จากดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น แต่ยังถือว่าอ่อนค่าระดับกลางๆ กับค่าเงินในภูมิภาค ส่วนหนึ่งมาจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ออกมาชะลอตัวด้วย และเป็นการอ่อนค่าของเงินบาทมาจากเชิงฤดูกาลด้วย ที่เป็นช่วงการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียน และเป็นช่วงโลซีชั่นของภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นแรงกดดันต่อเงินบาท ให้อ่อนค่ามากขึ้น”