‘จีน’ฟ้องสหรัฐกีดกันรถอีวี สรท.หวั่นสงครามการค้าปะทุ

‘จีน’ฟ้องสหรัฐกีดกันรถอีวี สรท.หวั่นสงครามการค้าปะทุ

ทางการจีนยื่นฟ้องสหรัฐอย่างเป็นทางการในเวทีการค้าโลก อ้างเลือกปฏิบัติ-บิดเบือนการแข่งขันที่เป็นธรรม ด้าน สรท.จับตาใกล้ชิด หวั่นลุกลามกลายเป็นเทรดวอร์รอบ 2

สำนักข่าวรอยเตอร์สและเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงานว่า ผู้แทนการค้าของจีนยื่นฟ้องสหรัฐในเวทีองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) อย่างเป็นทางการแล้ว กรณีการเลือกปฏิบัติต่อรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จากจีน ซึ่งนับเป็นการเปิดแนวรบล่าสุดของข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ดำเนินมายาวนาน

กระทรวงพาณิชย์ของจีน ระบุว่า การยื่นฟ้องในเวทีดับเบิลยูทีโอครั้งนี้ เพื่อต้องการสนับสนุนให้เกิดบรรยากาศที่เป็นธรรมต่อบรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีน รวมไปถึงอุตสาหกรรมอีวีทั่วโลกด้วย

แถลงการณ์ของกระทรวงพาณิชย์จีนอ้างว่า ภายใต้บริบทของการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปกป้องสิ่งแวดล้อม สหรัฐได้กำหนดนโยบายที่เป็นการเลือกปฏิบัติขึ้นมาภายใต้กฎหมายการลดเงินเฟ้อ (ไออาร์เอ) ที่สนับสนุนการใช้ยานยนต์พลังงานใหม่ ทว่ากลับกีดกันรถยนต์จากจีนและประเทศสมาชิกอื่นในดับเบิลยูทีโอ จากมาตรการอุดหนุนดังกล่าวของสหรัฐ

การเลือกปฏิบัติดังกล่าวจึงเป็นการบิดเบือนการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก รวมถึงยังละเมิดหลักการของดับเบิลยูทีโอ เช่น หลักการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ และหลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง

 

ทั้งนี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ได้ลงนามในร่างกฎหมายไออาร์เอ ออกมาเป็นกฎหมายเมื่อเดือน ส.ค.2565 โดยเป็นกฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อที่ครอบคลุมเศรษฐกิจหลายด้าน รวมถึงส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศและส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด เช่น การใช้รถยนต์อีวี รถยนต์ฟิวเซลล์ และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในกฎที่สนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานใหม่นั้นกำหนดให้รถยนต์ที่เข้าข่ายได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ต้องเป็นรถที่ประกอบในขั้นสุดท้ายภายในอเมริกาเหนือ

กระทรวงพาณิชย์ของจีนย้ำว่า จีนคัดค้านเรื่องดังกล่าวอย่างรุนแรง และเรียกร้องให้สหรัฐปฏิบัติตามกฎของดับเบิลยูทีโอ รวมถึงเคารพในเทรนด์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ของโลก และแก้ไขนโยบายการเลือกปฏิบัติเสียใหม่ให้ถูกต้อง

นางแคเธอรีน ไท่ ผู้แทนการค้าของสหรัฐ กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐกำลังทบทวนข้อเรียกร้องของจีนที่ขอการปรึกษาหารือในเวทีดับเบิลยูทีโอ โดยมีบางส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายไออาร์เอปี 2565 และการใช้มาตรการต่างๆ ภายใต้กฎหมายดังกล่าว

นางไท่ ระบุในแถลงการณ์ว่า กฎหมายไออาร์เอของสหรัฐสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ซึ่งสหรัฐกำลังแสวงหาแนวร่วมกับพันธมิตร พร้อมยังกล่าวหาจีนว่าใช้นโยบายที่ไม่เป็นธรรมและไม่เป็นไปตามกลไกตลาดในการสร้างความได้เปรียบให้ผู้ผลิตของจีน

ด้านเจ้าหน้าที่ของดับเบิลยูทีโอรายหนึ่งยืนยันว่า ได้รับการร้องเรียนอย่างเป็นทางการจากจีนที่ขอการปรึกษาหารือเพื่อระงับข้อพิพาทในดับเบิลยูทีโอ แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม

ทั้งนี้ กระบวนการระงับข้อพิพาทในดับเบิลยูทีโอจะใช้เวลา 6 เดือน หลังจากตั้งคณะอนุญาโตตุลาการขึ้นแล้ว ทว่าทางปฏิบัติจริงมักใช้เวลานานกว่านั้นมาก

 

หากกลไกระงับข้อพิพาทของดับเบิลยูทีโอมีมติเห็นชอบไปทางฝ่ายจีน สหรัฐอาจยื่นอุทธรณ์การตัดสินและทำให้กระบวนการทางกฎหมายเป็นโมฆะได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ทั้ง 2 ประเทศเคยมีกรณีพิพาททางการค้าในยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มาแล้ว และดับเบิลยูทีโอตัดสินให้จีนเป็นฝ่ายถูก แต่สหรัฐยื่นอุทธรณ์และขัดขวางการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการรายใหม่ขององค์กรอุทธรณ์ จนส่งผลให้กระบวนการพิจารณาข้อพิพาทหยุดชะงักเพราะไม่ครบองค์ประชุม

นายคาร์ลอส กูเตียร์เรซ อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการร่วมประชุมโป๋อ๋าวฟอรั่มที่ประเทศจีน กล่าวถึงการตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้าจีนที่ไปประกอบในประเทศที่สาม เช่น เม็กซิโก ว่า อาจเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้

สรท.หวังจีนฟ้องสหรัฐไม่ลามเป็น ‘เทรดวอร์ 2’

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวถึงกรณีจีนยื่นฟ้องร้องกับ WTO ว่านโยบายอุดหนุนอีวีของสหรัฐ (IRA) เป็นการเลือกปฏิบัติและตั้งใจกีดกันอุตสาหกรรมและอีวีของจีน จนอาจลามกลายเป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รอบ 2 ว่า เป็นเรื่องที่น่ากังวล หากประเด็นดังกล่าวลุกลามบานปลายไป 

โดยเฉพาะการใช้มาตรการเก็บภาษีในสินค้าที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์อีวี การสนับการย้ายฐานการผลิตของจีนไปยังประเทศอื่น ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในซัพพลายเชนของจีนไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ พลาสติก ยางพาราที่นำไปผลิตเป็นล้อรถยนต์ ดังนั้นคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

ทั้งนี้อุตสาหกรรมอีวีเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของจีนและได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งในประเทศจีนและประเทศอื่นๆ หากมีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนจนกลายเป็นสงครามการค้ารอบ 2 ไม่เป็นผลดีต่อการค้าโลกและการค้าไทย จากเดิมที่มีปัญหาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ก็จะมีปัญหาเพิ่มเป็นความขัดแย้งด้านเศรษฐกิจ หรือจีโออีโคโนมิก แน่นอนว่า ไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากเราเป็นซัพพลายเชนของจีน ซึ่งไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อม เพราะเราเป็นซัพพลายเชนของจีน

“อุตสาหกรรมอีวีของจีนเรียกได้ครบถ้วนมีตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งวัตถุดิบที่ผลิตแบตเตอรี่ และมีการส่งเสริมพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง บวกกับราคารถยนต์อีวีที่ทุกคนแตะต้องได้จึงได้รับความนิยมสูง" 

ทั้งนี้หากปัญหาลุกลามย่อมมีผลกระทบแรงเพราะอุตสาหกรรมอีวีของจีนเป็นอุตสาหกรรมใหญ่และไทยเป็นฐานการผลิตของจีนที่จีนย้ายฐานการผลิตมายังไทย เช่น บีวายดี ฉางอัน เกรทวอลล์มอเตอร์ (GWM) ย่อมได้รับผลกระทบทางอ้อมเช่นกัน เพราะไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์อีวี ชิ้นส่วนรถยนต์ ทั้งที่ส่งออกไปจีนเพื่อนำไปประกอบเป็นรถยนต์เพื่อส่งออก และการผลิตเพื่อการส่งออก

จีนขึ้นแท่นผู้ส่งออกรถยนต์เบอร์ 1 ของโลก

ทั้งนี้ นอกจากสินค้าในกลุ่มแผงพลังงานแสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแล้ว รถยนต์อีวียังเป็นอีกหนึ่งสินค้าใหญ่ในกลุ่มพลังงานสีเขียวที่รัฐบาลจีนต้องการขยายตลาดเพื่อขับเคลื่อนการส่งออกและเพิ่มการเติบโต

ในปี 2566 จีนแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นแท่นเป็นผู้ส่งออกยานยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยข้อมูลจากกรมศุลกากรจีนระบุว่ามีการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้น 57% เมื่อเทียบรายปี อยู่ที่ 5.22 ล้านคัน ในขณะที่ญี่ปุ่นส่งออกยานยนต์ได้ 4.42 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบรายปี จากข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น

ขณะที่ยอดขายอีวีทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 7 แสนล้านคันในปี 2559 ไปอยู่ที่ 13.9 ล้านคันในปี 2566 โดยจีนนับเป็นผู้ส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งของโลกมาโดยตลอด ซึ่งในปี 2564 2565 และ 2566 อยู่ที่ 3.3 ล้านคัน 6 ล้านคัน และ 8 ล้านคัน ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม จากความสำเร็จในด้านรถยนต์ไฟฟ้าของจีน ทำให้หลายบริษัทตกอยู่ในภาวะที่ไม่สู้ดีนัก หลังหน่วยงานกำกับดูแลในยุโรป แสดงความกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรมต่อผู้ผลิตรถยนต์ท้องถิ่น โดยคณะกรรมาธิการยุโรปกำลังสืบสวนการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลจีน ในการสอบสวนที่อาจนำไปสู่การจัดเก็บภาษีนำเข้าของสหภาพยุโรป